• สรุปข่าวตลาดหุ้น (ภาคเช้า) ประจำวันที่ 15 มกราคม 2563

    15 มกราคม 2563 | SET News
 
· ตลาดหุ้นสหรัฐฯอ่อนตัวลงหลังจากที่ช่วงต้นตลาดพุ่งไปทำสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลัง Bloomberg เผยว่าสหรัฐฯจะคงภาษีจีนไว้จนถึงเลือกตั้งในช่วงเดือนพ.ย. แม้จะลงนามข้อตกลงเฟสแรกร่วมกันได้

ดัชนีดาวโจนส์ปิด +0.11% ที่ 28,939.67 จุด ขณะที่ S&P500 ปิด -0.15% ที่ 3,283 .15 จุด และ Nasdaq ปิด -0.24% ที่ 9,251.33 จุด

รายงานจาก Reuters อ้างอิงข้อมูลจากวงใน เผยว่าจีนมีคำมั่นจะซื้อสินค้าในกลุ่มภาคการผลิตสหรัฐฯเพิ่มขึ้นราว 8 หมื่นล้านเหรียญในช่วง 2 ปีนี้ และซื้อน้ำมันเพิ่มประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญ โดยทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการค้าเฟสแรก

บรรดานักวิเคราะห์ คาดว่าผลประกอบการบริษัทโดยรวมใน S&P500 จะปรับลงประมาณ 0.5% ซึ่งเป็นการปรับลงเป็นไตรมาสที่ 2 ต่อเนื่อง โดยได้รับแรงกดดันจากผลประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมและพลังงานที่ปรับลดลงจากความยืดเยื้อของสงครามการต้าสหรัฐฯและจีน

· ประธานการลงทุนจาก Freedom Asset Management กล่าวว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงเดินหน้าปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งตลอดช่วงปีใหม่นี้แม้ว่าจะเริ่มเข้าสู่ช่วงเทขายทำกำไรบ้าง เพื่อรอโอกาสในการทำกำไรครั้งใหม่ และคาดว่าภาพรวมS&P500 จะมีการสะสมพลังและจะปรับตัวได้ในช่วงแรก 5-10% ขณะที่ดัชนี S&P500 อาจปรับขึ้นได้ 15% ในช่วงสิ้นปี โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนเป็นรายงานผลประกอบการและข้อมูลเศรษฐกิจแข็งแกร่งสหรัฐฯ แต่หากผลประกอบการไม่ดีอย่างที่คาดก็จะเห็นตลาดมีการปรับฐาน และเหล่านักลงทุนอาจมีการลดการถือครองในตลาดหุ้นอีกครั้ง

· ตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้ปรับตัวผสมผสานกันก่อนที่สหรัฐฯและจีนจะลงนามทางการค้า โดยดัชนีนิกเกอิเปิด -0.23% ขณะที่ Topix เปิด -0.19% และ Kospi ของเกาหลีใต้เปิด -0.43% ทางด้าน ASX200 เปิด +0.34% ทางด้านตลาดรอคอยการลงนามข้อตกลงการค้าในวันนี้เกี่ยวกับข้อตกลงหลักๆร่วมกัน แต่การที่สหรัฐฯจะยังไม่ยกเลิกหรือลดภาษีการค้ากับจีนเพิ่มก็ดูจะสร้างแรงกดดันให้แก่ภาคบริการด้านการเงินและบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ รวมทั้งกดดันตลาดการเงิน

· อ้างอิงจากสำนักข่าวอินโฟเควสท์

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้ระหว่าง 30.20 - 30.35 บาท/ดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังมี flow ไหลออก และนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับมาตรการดูแลค่าเงินบาท ของแบงก์ชาติ ท่ามกลางตลาดที่กำลังจับตาดูความคืบหน้า การทำข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯกับจีน และตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ

- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้สาเหตุเงินบาทแข็งค่าในปี 62 ที่ผ่านมาเกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นหลัก ไม่ใช่แรงเก็งกำไรต่างชาติ โดยยอมรับว่ามีความกังวลและติดตามสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น อย่างไรก็ตามมองว่าทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกับ ธปท.ในการแก้ไขปัญหานี้

- ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดปี 63 มูลค่าการส่งออกของไทยจะอยู่ที่ราว 244,231 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือในช่วง 240,472-247,621 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหดตัว -0.9% (อยู่ในช่วง -2.4% ถึง 0.5%)

- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของไทย (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบรายจ่ายปีงบประมาณ 63 เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้งบประมาณของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐได้ออกมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีเม็ดเงินช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสถานการณ์และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยตั้งเป้าหมายให้มีการใช้จ่ายที่ 54% ของงบรายจ่ายรวมทั้งหมด ซึ่งเมื่อสิ้นไตรมาส 2 ของปีงบ 63 (สิ้น มี.ค.63) ซึ่งจะมีเม็ดเงินงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจราว 1 ล้านล้านบาท

- กรมบัญชีกลางเผยผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ณ สิ้นไตรมาสแรก (1 ต.ค.-31 ธ.ค.62) มี การใช้จ่ายแล้วจำนวน 765,740 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 3,000,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25.52%

- นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมออกแพคเกจมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลงทุนใหม่ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)จะร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ร่วมพิจารณาออกมาตรการดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานที่้เกี่ยวข้องออกชุดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเป็นการเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ เมื่อธุรกิจของผู้ประกอบการดีขึ้น จะมีความสามารถในการลงทุนใหม่ ซึ่งกระทรวงการคลังก็จะออกแพคเกจมาตรการมาสนับสนุน

ทั้งนี้มีหลายเครื่องมือที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาในแพคเกจมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุนของเอสเอ็มอี เช่น การให้สิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งแมทชิ่งฟันด์นำเงินไปลงทุนในเอสเอ็มอี ขณะที่ บีโอไอได้รับโจทย์จากรัฐบาลในการพิจารณามาตรการ โดยในส่วนของธปท.นั้น กำลังพิจารณามาตรการเพื่อช่วยลดต้นทุนการลงทุนของเอสเอ็มอี เช่น การให้ซอฟท์โลนแก่สถาบันการเงิน ขณะที่ ธนาคารออมสินก็สามารถให้ซอฟท์โลนแก่สถาบันการเงินเพื่อนำไปปล่อยกู้แก่เอสเอ็มอีก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com